เสียงจากแม่ค้าที่ตลาดตาบา นราธวาส หลังการระบาดโควิด 19

ตลาดตาบาเปลี่ยนรูปโฉมไปแล้วอย่างสิ้นเชิง

ใครที่เคยไปตลาดตาบาหรือตากใบจะรู้ว่าตลาดนี้เคยคึกคักขนาดไหน ผู้คนพลุกพล่านทั้งที่ไปซื้อของและใช้เรือข้ามฟากไปยังฝั่งมาเลเซีย ตลาดตาบา หรือตลาดตากใบ เป็นตลาดใหญ่ชายแดนไทย – มาเลเซียที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีแม่น้ำคั่นกลาง

แต่วันนี้ตลาดตาบามีแม่ค้าเหลืออยู่ไม่กี่ราย จำนวนคนเดินพอๆกับจำนวนแพะและแมวบนถนน

หลังการระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี จนมีการปิดประเทศและปิดชายแดนของทั้งสองฝั่ง ทำให้ลูกค้าประจำของตลาดหายไปทันที  ท่าเรือที่เคยบริการเรือข้ามฟากต้องปิดลงเพราะไม่มีคนสัญจร  ถนนโล่งมีรถแค่ไม่กี่คัน

ยามบ่าย ด้านหน้าตลาดยังหลงเหลือร้านไม่กี่ร้าน เป็นร้านขายผลไม้เล็ก ๆ สองร้าน บนแผงมีของคล้ายกันคือส้ม องุ่น แก้วมังกร มะม่วง วางอยู่ไม่มากนัก

คอซีน๊ะ เจ๊ะอูแว แม่ค้าผลไม้ที่ขายมาสิบห้าปี บอกว่าไม่เคยเจอสภาพที่เงียบแบบนี้

“เมื่อก่อนขายเยอะกว่านี้ นี่คือว่าน้อยมาก ไม่มีคน จะขายใคร มีแต่แพะ ของแค่นี้บางทีสองสามวันยังขายไม่หมด ขายไม่ได้จริง ๆ”

“ซื้อมาบางทีก็เน่า ไม่มีคนซื้อ หาตังค์ยากเลย เมื่อก่อนมาเลย์มาซื้อขายได้วันละเป็นหมื่น เดี๋ยวนี้เหลือห้าร้อย”

คอซีน๊ะบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นคนแถวบ้านนั่นเอง

อีกร้านเยื้อง ๆ กัน รับผลไม้มาจากที่เดียวกัน คือผลไม้ส่วนใหญ่มาจากราชบุรี บรรดาแม่ค้าไปรับมาอีกทีจากพ่อค้าคนกลางที่สุไหงโกลก รอซีนะ ติ๊สามานิ บอกว่ามาขายทุกวัน ตั้งแต่เช้าถึงห้าโมงเย็น แม้ว่าบางวันจะขายไม่ได้ แต่มีรายได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่มีเลย

“เป็นแบบนี้ตั้งแต่โควิด คนที่มาซื้อก็คนแถวนี้ คนนอกไม่ค่อยมี”  เธอบอกว่าบางทีก็ขาดทุน เพราะผลไม้เป็นของเน่าเสียง่าย แม้ว่าจะขายปริมาณไม่มากก็ตาม แต่ของที่มีเมื่อผ่านไปแค่วันสองวันน้ำหนักก็ลดลง เธอบอกว่าในช่วงที่ตลาดคึกคักขายดีนั้น ยอดขายแค่ละวันสูงถึงหมื่นก็มี และถึงขนาดต้องมีลูกจ้างมาช่วยขายหรือช่วยจัดของจำนวนสองคน  แต่ขณะนี้ทำคนเดียว แม้แต่ลูก ๆ ก็อยู่บ้านเฉย ๆ จากที่เมื่อก่อนพวกเขาเคยออกเรือ ส่งของให้ฝั่งมาเลเซีย รายได้ของที่บ้านลดฮวบในขณะที่ภาระยังมีเหมือนเดิม เพราะเหตุนั้นหลังจากหยุดช่วงโควิดระบาดหนักทำให้เธอดิ้นรนอยากออกมาขายของ แม้จะรายได้น้อยแต่ไม่มีหนทางอื่น

แม่ค้าผลไม้ชี้ให้ดูร้านรวงแถวข้างๆที่หายไป พวกเธอบอกว่า หลายคนไปหาที่ขายที่อื่น หรือไม่ก็ไปทำอย่างอื่น มีแต่พวกเธอที่ไปไหนไม่ได้เพราะแต่งงานมีครอบครัวอยู่ในพื้นที่ ต้องหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำได้เพื่อเอาตัวรอดเพราะในระหว่างนี้ คนรอบข้างก็ล้วนแต่มีปัญหาทั้งสิ้น ไหนจะคนที่กลับมาจากมาเลเซียและไม่มีงานทำเช่นกัน หลายคนมาขายของ แต่พวกเขาก็พบปัญหาเดียวกัน นั่นคือไม่รู้จะขายใคร รอซีนะบ่นว่า ยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ด้านในของตลาดก็มีเพียงไม่กี่ร้านที่เปิดขายของ ร้านส่วนใหญ่ปิดไปตั้งแต่ช่วงโควิดและหลายรายไม่เปิดอีกเลยแม้ว่าจะมีการลดค่าเช่าให้ก็ตาม ยาการียา แวมูดอ พ่อค้าขายอุปกรณ์แค้มปิ้ง ของใช้ชี้ให้ดูร้านของตัวเองที่มีสองห้อง ขณะนี้เปิดไฟโชว์สินค้าไว้ห้องเดียว เขาบอกว่าหากมีลูกค้าเข้าร้านตามหาของบางอย่างจึงจะเปิดไฟ แม้่ว่าจะประหยัดได้ไม่มากแต่ก็พยายามทำทุกหนทาง ยอดขายของร้านนั้นตกฮวบ จากที่เคยขายได้เหยียบหมื่นหรือกว่าหมื่น เหลือแค่สามสี่ร้อยบาท รอบร้านเขามีแต่ร้านที่ปิดไปรวมทั้งร้านขายซีดีที่อยู่ข้างๆ

ใกล้ ๆ กัน เป็นร้านขายรองเท้าแตะ อายิ มะมิง ออกมานั่งขายรองเท้าทุกวัน แม้บางวันจะเงียบและไม่มีลูกค้าเลย เขาบอกว่า “มันวังเวงมาก”

“เหมือนอยู่คนเดียว ผิดปกตินะ จากที่เราอยู่แบบคึกคัก ไม่รู้จะปรับตัวยังไง จากเมื่อก่อนเศรษฐกิจมันยังเรื่อย ๆ แต่นี่จมดินเลย สุดแล้ว ขายได้บางวันไม่ถึงพัน บางทีก็หกร้อย แปดร้อย ”

พ่อค้าขายเสื้อผ้าอีกรายว่างจนไปนั่งจับกลุ่มคุยกันกับเพื่อน รอนิง เวาะบ๊ะห์ อายุ 63 บอกว่าเริ่มขายของมาตั้งแต่อายุ 13 เขาบอกว่าจนถึงขณะนี้ก็ยังคิดไม่ออกว่าถ้าไม่ขายของแล้วจะทำอาชีพอะไร วันนี้แม้ไม่มีคนซื้อก็ต้องมาขาย เพราะไม่อยากจะอยู่บ้านเฉย ๆ บ่ายจัดของวันนั้น วันที่ Patani NOTES เดินในตลาดเพื่อสำรวจบรรยากาศ ทีมงานตกลงซื้อเสื้อยืดจากเขาตัวละสองร้อยบาทหนึ่งตัว รอนิงดีใจอย่างมากเขาบอกว่าถือเป็นการ “เปิดบิลล์” ในวันนั้นเลยทีเดียว

พ่อค้าแม่ค้าที่ยังเหลืออยู่ในตลาดพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขายังไปขายของในตลาดก็เพราะไปไหนไม่ได้ หรือไม่ก็เพราะพบว่าหนทางอื่นไม่ได้อะไรพอๆกัน พวกเขารู้ว่าเพื่อนร่วมอาชีพบางคนไปหาทางตระเวนขายของที่อื่น เช่นไปตามงาน หรือไปหาตลาดอื่น แต่ยอดขายที่ไม่แน่นอนต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้บางคนเชื่อว่าไม่คุ้ม

ออกจากตัวตลาดมาตามถนนได้ไม่ถึงห้านาทีเราก็พบว่าบนไหล่ถนนมีรถจอดพร้อมกองเสื้อผ้ากองโตวางขายให้ผู้ที่สัญจรไปมาในราคาตัวละ 20 บาท เมื่อเข้าไปดูก็พบว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นเป็นของมือสอง หรืออาจจะหลายมือมากกว่านั้น พ่อค้าหนุ่มสองคนบอกว่าพวกเขาเคยมีร้านขายเสื้อผ้ามือสองในมาเลเซีย เมื่อต้องกลับไทยก็พยายามหาหนทางในการหารายได้ ในที่สุดก็ไปรับสินค้าเสื้อผ้ามือสองนั่นเองมาขายอีก ความที่ไม่มีร้าน พวกเขาตระเวนขายไปตามที่ต่าง ๆ ที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ตากใบนั้นพวกเขาไปขายเดือนละครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น

มีคนจอดรถข้างทางเพื่อไปหยิบชมและเลือกสินค้า “ได้ละ” ชายคนหนึ่งว่า เขาซื้อเสื้อสองตัวจ่ายไป 40 บาท คนใกล้เคียงอธิบายว่าของราคาขนาดนี้ถือว่าคุ้มมาก แต่บางคนก็เดินจากไปหลังจากเลือกอยู่นาน ส่วนพ่อค้าหนุ่มสองคนนั่งรอดูอย่างอดทนต่อไป

เครดิต pataninotes

อ่านต่อ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *