พ่อเข้าแจ้งความ สงสัยแผลบนศีรษะลูก เกิดจากอะไร หลังมีอายุได้เพียง 23 วันเสียชีวิต

พ่อวัย 32 ปีเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง หลังภรรยาเข้ารับการผ่าท้องคลอดทารกเพศชาย

มีอายุได้เพียง 23 วันเสียชีวิต พ่อสงสัยแผลที่บนศีรษะด้านหลัง 3 แผล เกิดจากอะไร นายสุบิณฑ์ รัตนวิไลย อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27 ม.7 ต.ป่าพะยอม อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง เพื่อเอาผิดกับ ทางรพ หลังเจอบาดแผลฉกรรจ์ที่บริเวณศีรษะของลูกชายทารกแรกเกิด และมีชีวิตอยู่ได้เพียง 23 วันต้องเสียชีวิตเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลศรีนครินทรวิโรจน์ ( มอ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พ่อได้รับร่างของลูกชายกลับไปฝังที่ อ.ป่าพะยอมบ้านเกิด และได้ทำบุญครบ 100 วัน ในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 แต่ทางโรงพยาบาลพัทลุง ไม่ได้แจ้งรายละเอียดของการเสียชีวิตของทารกน้อยให้ทราบ


นายสุบิณฑ์ฯ พ่อของทารกน้อยวัย 23 วัน เล่าว่าหลังจากนางสาวอรสา หยู่ใหม่ ภรรยา ตั้งครรภ์ ก็ได้ฝากครรภ์ไว้ที่โรงพยาบาลพัทลุง และได้เข้าตรวจครรภ์ตามหมอนัดจนครบกำหนดผ่าคลอดวันที่ 14 มิถุนายน 2563 น้ำหนักแรกเกิด 2,940 กรัม ทั้งนี้ เนื่องจากทารกอยู่ในครรภ์ในท่าก้น หลังจากผ่าตัดตนไม่ได้รับการอนุญาตจากพยาบาลในการเข้าเยี่ยมลูกชาย จนกระทั่งได้เข้าดูหน้าลูกชายโดยนอนในตู้อบ และมีสายระโยงรยางค์มากมาย ตนก็ไม่ทราบสาเหตุ ทางพยาบาลไม่ได้อธิบายหรือชี้แจงให้ตนทราบ ในวันที่ 2 ตนเข้าไปดูลูกชายตามปกติ เห็นลูกชายต้องให้เลือดด้วย จนถึงเวลาเช็ดตัวให้ลูกชาย ถูกพยาบาลไล่ตนออกมาจากห้อง ตนสังเกตเห็นศีรษะด้านหลังของลูกชายมีแผลฉกรรจ์จำนวน 3 แผล

ตนขอดูแผลแต่ถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ โดยอ้างว่าไม่สามารถพลิกตัวทารกได้กลัวกระทบกับท่อเครื่องช่วยหายใจ ตนได้ไปขอคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทลุง เพื่อขอถ่ายภาพลูกชาย แต่ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นสิทธิ์ของทางโรงพยาบาล หลังจากรับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทลุง 10 วัน อาการลูกชายไม่ดีขึ้น จึงขอให้ทางโรงพยาบาลพัทลุงส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทรวิโรฒน์ ( มอ.) จ.สงขลา ในวันที่ 24 มิถุนายน ในที่สุดลูกชายได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งแพทย์ที่ รพ.มอระบุสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจาก ภาวะขาดอากาศหายใจ


นายสุบิณฑ์ฯ ยังบอกว่า เมื่อนำร่างลูกชายกลับบ้านเพื่อทำพิธี ด้วยความสงสัยบาดแผลที่ศีรษะลูกชาย ที่ทางหมอปิดไว้ด้วยหนังเทียมที่มีลักษณะเหมือนหนังศีรษะ ตนตัดสินใจดึงหนังเทียมออกพบว่าศีรษะลูกชายเป็นแผลจำนวน 3 แผล หลังทำพิธีฝังร่างลูกชาย ตนตัดสินใจเข้าร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพัทลุง ในวันที่ 8 กรกฎาคมเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมรับเรื่องเพื่อประสานกับโรงพยาบาลพัทลุง ให้ตนรอและกำชับไม่ต้องเข้าแจ้งความ จนกระทั่งตนทำบุญ 100 วันให้ลูกชายในวันที่ 19 ตุลาคม ก็ยังไม่ได้รับกาติดต่อจากโรงพยาบาลพัทลุง และศูนย์ดำรงธรรมแต่อย่างใด ตนจึงตัดสินใจเข้าแจ้งความ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพัทลุง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางครอบครัวรู้สึกติดใจว่าทำไม ทาง รพ. พัทลุง ไม่มีการชี้แจงในรายละเอียด และทำเสมือนต้องการปิดบัง เรื่องบาดแผลของลูกชายที่ศีรษะ ตนจึงร้องขอให้ทาง รพ.มอ ส่งเลือดลูกชายไปตรวจที่ ศูนย์พันธุกรรมศาสตร์ กทม. ซึ่งผลเลือดออกมาว่าลูกชายของตนปกติดีทุกอย่าง ตนจึงตัดสินใจร้องเรียนมายังสื่อมวลชนเพื่อขอความช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับครอบครัว พร้อมแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ รพ. พัทลุงด้วย เพราะมีความเชื่อว่า บาดแผลที่ศีรษะของบุตรชายต้องมีสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทำให้แผลฉกรรจ์เช่นนั้น


ทางด้านนายแพทย์จรุง บุญกาญจน์ ผอ .รพ.พัทลุง พร้อมแพทย์หญิงเสริมศรี ปฐมพาณิชรัตน์ รอง ผอ.รพ. พัทลุง และ พญ.อรุณี ประพฤติตรง กุมารแพทย์เชี่ยวชาญทารกแรกเกิด ตั้งโต๊ะแถลงข่าว พร้อมระบุบาดแผลที่ศีรษะทารกดังกล่าวเป็นบาดแผลที่เกิดจากการกดทับ เนื่องจากหลังคลอดทารกคนดังกล่าวไม่ร้องไม่หายใจ และตัวเขียว จึงได้ให้กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทารกแรกเกิดดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมได้มีการใส่ท่อช่วยหายใจ เบื้องต้นพบว่าเด็กเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และยอมรับว่าในการรักษามีการให้เลือดเด็ก เพราะเด็กเกิดภาวะความดันเลือดต่ำ พร้อมระบุขณะทำคลอดหมอไม่ได้ใช้อุปกรณ์เพื่อใช้ในการทำคลอด เนื่องจากเด็กเอาก้นลง ซึ่งผ่าคลอดง่ายกว่าปกติ และยืนยันว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นที่บริเวณศีรษะของทารกน้อยเป็นบาดแผลกดทับ เบื้องต้นทาง รพ. พัทลุงได้ให้ทางครอบครัวยื่นคำร้องเพื่อขอความช่วยเหลือเพื่อเยี่ยวยาตามมาตรา 41 ว่าด้วยเรื่อง พรบ. คุ้มครองและการเยียวยา ผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุขแล้วด้วย

ในขณะที่คณะแพทย์ แถลงเพิ่มเติมว่าแผลกดทับในทารกคนดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเนื่องจากทารกไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เพราะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และด้วยความที่ผิวหนังศีรษะยังเป็นผิวอ่อนจึงเกิดแผลได้ง่าย โดยระยะเวลาในการเกิดแผลเร็วสุด คือ 3 วัน

พัทลุง ภาพ / ข่าว ลัดดา มณีรัตน

อ่านต่อ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *