เทศกาลจับปลาสองมือ ณ บางลาง
เมื่อพูดถึงสำนวนจับปลาสองมือ ทุกคนจะเข้าใจได้ว่า มันหมายถึงผลลัพธ์ที่เท่ากับว่า ศูนย์เปล่าหรือจะไม่ได้อะไรเลย ในต่อไปนี้จะบอกเล่าถึงอะไรคือเทศกาลจับปลาสองมือ จะศูนย์เปล่าหรือ ได้เปล่า
พื้นที่ยะลาเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนปาตานีที่มีเขื่อนซึ่งสร้างไว้เมื่อพศ.2519 ในพื้นที่อ.บันนังสตาและอ.ธารโต เปิดใช้งานเมื่อ 27 กันยายน พศ.2524 โดยการจัดการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยรวมแล้วการสร้างมีไว้เพื่อผลิตไฟฟ้า แต่มีที่มาและเหตุผลหลักของการสร้างที่เป็นผลทำให้ชาวบ้านในแถบน้ำต้องขุ่นเคืองใจจนถึงทุกวันนี้และยังคงมีข้อพิพาทเรียกร้องกันอยู่จากรุ่นสู่รุ่น แต่เราจะไม่ลงรายละเอียดเรื่องราวในที่นี้ หรือถ้ามีผู้อ่านสนใจแล้วจะลองหาข้อมูลมาเขียนในภายหลังนะครับ
เขื่อนบางลางคือต้นน้ำของแม่น้ำปัตตานีที่มีต้นน้ำเป็นแหล่งขยายพันธ์ของ”ปลากือเลาะ”หรือปลาพลวงชมพูซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นเนื้อดีกินอร่อยราคาแพง และช่วงหลังมานี้ได้มีการปล่อยพันธ์”ปลาบึก” ปลาสวายและอื่นๆลงไปในเขื่อนเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ปริมาณน้ำมากจนเขื่อนรับน้ำไม่ไหว เขื่อนก็จะระบายน้ำออกสู่แม่น้ำด้านล่าง การระบายน้ำนี้ทำให้ปลาต่างๆออกมาพร้อมกับน้ำสู่สาธารณชนด่านล่างด้วย แต่ที่เป็นไฮไลท์คือ จะมีปลาบึก ปลาสวายตัวเป็นๆขนาดใหญ่ที่ออกมาและตกกระแทกโขดหินดินทรายด้านล่างเขื่อนจนทำให้ปลาบาดเจ็บหรือตายในบางตัว ปลาบาดเจ็บส่วนใหญ่จะว่ายลอยให้เห็นเหนือผิวน้ำ เมื่อชาวบ้านพบเห็นก็จะกระโดดลงสะพานในแม่น้ำไหลเชี่ยวและ”ว่ายน้ำจับปลาด้วยสองมือ” ขึ้นมาไว้บนบกบนสะพานจนกลายเป็นเทศกาลประจำปีไปแล้วก็ว่าได้
บางคนได้มาเพื่อเอาไว้กินแบ่งในเครือญาติมิตรสหาย บางคนจับได้มาหลายตัวแบ่งกันไม่หวาดไม่ไหว ก็เอามาแบกะดิน เร่ขายกันสดๆตรงนั้นเลยก็มีถมไป จนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อๆกันมา พอเป็นสีสันให้ชาวบ้านสนุกสนานในยามที่บ้านเรือนเรือกสวนไร่นาจมลงไปพร้อมกับน้ำที่ถูกปล่อยลงมา
การ”จับปลาสองมือ” แน่นอนว่าในสำนวนไทยหมายถึงความศูนย์เปล่า แต่สำหรับคนมลายูที่นี่มันคือ”การได้เปล่า” ซึ่งช่างย้อนแย้งกับสำนวนไทยโดยสิ้นเชิงเหมือนจะเป็นเส้นขนานต่อกัน ประดุจดังประวัติศาสตร์ปาตานีที่มีเรื่องเล่าเป็นเส้นขนานกันระหว่างเวอร์ชั่นไทยกับเวอร์ชั่นมลายูตลอดมา
แม้ว่าการจับปลาแบบนี้ยังไม่ได้ถูกตั้งชื่อ ผู้เขียนจึงขออนุญาติเรียกสิ่งนี้ว่า “เทศกาลจับปลาสองมือ ณ บางลาง”
ชมคลิป