วันที่ 9 มกราคม 2564 ซึ่งตรงกับ วันเด็กเเห่งชาติ ได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า”เครือข่ายกู้ภัยทางสูงจังหวัดชายแดนใต้”
ได้ขออนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลยะลาเพื่อขอจัดกิจกรรมโรยตัวและได้รวบรวมกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงเขายาลอ ได้แก่เยาวชนจาก ตำบลยะลา ตำบลบาโงยซิแน ตำบลลิดล มาฝึกฝนให้ความรู้การกู้ภัยทางสูงโดยใช้เชือกจนสามารถโรยตัวจากหน้าผาที่มีความสูงประมาณ 100 เมตร ซึ่งชาวบ้านละเเวกนั้นเรียกว่า”ผาหัวเขา”สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จังหวัดยะลา ในการโรยครั้งนี้มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 28 คน ใช้เชือกความยาวกว่า 200 เมตร และกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนที่สัญจรไปมาจำนวนมาก
อนึ่ง กิจกรรมครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างแรงบรรดาลใจ เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้เด็กเเละเยาวชน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ และเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้ มีจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์สมบัติชาติ ที่มาของชื่อจังหวัดยะลา “โบราณสถานเขายาลอ” แห่งนี้ไว้ให้นานเท่านาน และยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด จากวิกฤตน้ำท่วมยะลา 64 อีกด้วย
บ้านหัวเขา ยาลอ เป็นภูเขาหินปูน ล้อมรอบด้วยพื้นที่ทับถมจากตะกอนน้ำพาตะกอนเชิงเขาและตะกอนที่ผุฟังอยู่กับที่ ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดยะลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 80-270 เมตร ยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร กว้างที่สุดทางตอนใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ในพื้นที่บ้านหัวเขา ยาลอ ติดรอยต่อตำบลลิดล อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 10 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 409 มุ่งหน้า บ้านหัวเขา ยาลอ (หรือมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก) พบสามแยกให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 4065 อีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร พบเขายะลาอยู่ทางขวามือ
เขายะลาประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ พิเศษ 127ง ประกาศวันที่ 21 ธันวาคม 2544 และจากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ หจก.คูน้ำคันดิน พบถ้ำและเพิงผาบนเขายะลาหลายแห่ง ตั้งแต่ส่วนตอนล่างของเขาไปจนส่วนยอดที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบในลักษณะหุบเขา ปัจจุบันพื้นที่เขายะลาทางด้านทิศเหนือและตะวันออกบางส่วนถูกระเบิดทำลายจากการทำเหมืองหินปูน