ผวจ.นราธิวาสออกคำสั่ง ควบคุมการการชุมนุม มั่วสุม หรือการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ตามที่จังหวัดนราธิวาส เป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวังสูง ดังนั้นเพื่อเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสให้สอดคล้องกับประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง
นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จึงออกคำสั่งจังหวัดนราธิวาส ที่ 504/2564 เรื่องการชุมนุม มั่วสุม หรือการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่าห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส การชุมนุมโดยการทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการตามที่กำหนดไว้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพุทธศักราช 2548 (ฉบับที่ 18) ประกาศ ณวันที่ 29 มกราคม 2564 เว้นแต่การทำกิจกรรมของทางราชการ หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตราการเว้นระยะห่างทางบุคคลที่ปลอดภัย หรือการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถาน
ทั้งนี้ให้ผู้จัดการชมรมหรือจัดกิจกรรมแจ้งต่อนายอำเภอในเขตพื้นที่ ที่จะมีการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจแจ้งภายในเวลาที่กำหนดได้ ให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว รีบแจ้งเหตุผลความจำเป็นนั้นพร้อมทั้งแสดงเอกสารหลักฐานประกอบ(ถ้ามี) ให้นายอำเภอทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่น้อยกว่า 1 วันก่อนจะมีการอบรมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่สาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาสกำหนดแ ละจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยมอบอำนาจให้นายอำเภอในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเป็นผู้รับแจ้งและพิจารณาอนุญาตให้จัดการชุมนุม อีกทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการจัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการควบคุมแบบบูรณาการมาตรการป้องกันโรครวมทั้งจัดระเบียบและระบบต่างๆที่ทางราชการกำหนด หากพบการกระทำที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคพนักงานเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาหรือดำเนินการอื่นใด เพื่อให้ผู้จัดการชุมนุมหรือจัดกิจกรรมดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดของโรค รวมทั้งเสนอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งปิดสถานที่หรืองดการชุมนุม หรือจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชั่วคราวได้
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้มีความผิดตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาทและเป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพุทธศักราช 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
#หมายเหตุ:การจัดงานหรือกิจกรรมใดๆต้องรวมตัวไม่เกิน 50 คน และต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน (อ้างอิงจากนายมะยุรี เจะโซ๊ะ สสอ.สุไหงโก-ลก)
ที่มาข้อมูล สวท.สุไหงโก-ลก