ถ้าไม่ใช่ “ไฟใต้” แล้วอะไรผลัก “แรงงานไทย” ให้ไปมาเลเซีย!
อีกหนึ่งวาระของภาคใต้ ย่อมหลีกหนีไม่พ้นเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาปากท้องของประชาชน ในภาคใต้มีเรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับวาระนี้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย
ไม่นานมานี้่ รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ได้ร่วมกันทำงานวิจัย เรื่อง “การย้ายถิ่นของมุสลิมไทยไปมาเลเซีย และการบูรณาการทางสังคม กับการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้สนับสนุน
งานวิจัยนี้มีการวัตถุประสงค์ไว้เพื่อศึกษากระบวนการตัดสินใจไปทำงาน ไปใช้ชีวิตในประเทศมาเลเซีย และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ในอีกด้านได้ศึกษาทัศนคติของชาวมาเลเซียต่อชาวไทยมุสลิมที่ไปทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซีย เปรียบเทียบกับผู้ย้ายถิ่นจากชาติอื่นๆ
ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่า การไปทำงานในมาเลเซียของแรงงานไทยจากสามจังหวัดภาคใต้เป็นทางเลือกที่เกิดจากทั้งแรงผลักทางเศรษฐกิจจากพื้นที่ต้นทาง ซึ่งผู้ให้ข้อมูลมองว่า หางานยากและค่าแรงถูก สวนทางกับแรงดึงดูดในพื้นที่ปลายทาง ที่ถูกมองว่า มีความต้องการแรงงานและให้ค่าจ้างสูงกว่างานในประเทศไทยและยังมีเครือข่ายทางสังคมที่คอยสนับสนุนการทางานในมาเลเซีย
ผลจากการทำการวิจัยครั้งนี้ ยังพบว่า การย้ายถิ่นไปมาเลเซียเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและประสบการณ์หรือจังหวะของชีวิต มากกว่าที่จะมีเหตุมาจากเหตุการณ์ไม่สงบ ผลจากการสัมภาษณ์ระดับลึก พบว่า ผู้ย้ายถิ่นที่เริ่มต้นทำงานเมื่ออายุยังน้อย จะหาประสบการณ์และงานที่ชอบไม่น่าเบื่อ ทำให้ย้ายถิ่นไปที่ต่างๆ แต่เมื่ออายุมากขึ้น จะตั้งหลักให้ตัวเองในที่ที่ตนเองคิดว่ามีความสุขและมีความมั่นคง กลุ่มตัวอย่าง 88.4 มองว่า เหตุการณ์ความไม่สงบไม่มีผลเลยต่อการตัดสินใจไปทำงานที่มาเลเซีย
การไปทำงานในมาเลเซียมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในเรื่องของความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ในด้านความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทั้งรัฐไทยและจากคนมาเลเซียอาจตั้งข้อสงสัยว่า ชาวไทยมุสลิมที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุความรุนแรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้น เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และเป็นแรงผลักให้แรงงานไทยต้องออกจากพื้นที่ไปทำงานที่มาเลเซีย งานวิจัยพบว่า มีความเชื่อมโยงกับความไม่สงบว่า ทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดข้อจำกัดเรื่องงานที่มีให้ทำ และมีปัญหาเรื่องค่าแรงต่ำ
ในประเด็นการย้ายถิ่นกับความไม่สงบนี้ ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่คณะผู้วิจัยได้สัมภาษณ์เมื่อปี 2562 ชี้ว่า การที่รัฐไทยมองแรงงานไทยในมาเลเซีย โดยใช้มุมมองทางความมั่นคงด้วยสายตาที่สงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ทำให้การจัดการและการดูแลแรงงานไทยในมาเลเซียแตกต่างจากแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศอื่นๆ และที่ผ่านมาแรงงานไทยในมาเลเซียไม่เคยได้รับความสนใจจากรัฐไทยในฐานะแรงงานมาก่อน
กลุ่มตัวอย่างที่ให้สัมภาษณ์แก่คณะผู้วิจัยส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียมาก่อน โดยเหตุผลที่ไปทำงานในมาเลเซียนั่นก็เนื่องจากที่มาเลเซียหางานง่าย และมีรายได้สูงกว่าที่ประเทศไทย ส่วนใหญ่ทำงานในร้านอาหาร โดยผู้ชายทำงานเป็นกุ๊กมากกว่าผู้หญิง และพบว่า ผู้ชายได้รับค่าจ้างสูงกว่าผู้หญิง
กลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละ 30 ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพปานกลางหรือสูง คือ ต้องยืนเป็นเวลานาน ยกของหนัก ต้องทำงานในที่เย็นหรือร้อนจัด และลักษณะงานไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ต้องทำงานโดยเฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่ทำงานโดยไม่มีวันหยุดในหนึ่งสัปดาห์ มีรายได้ประมาณ 13,500 บาทต่อเดือน เกือบทุกคนส่งเงินกลับบ้าน 10,000-50,000 บาทในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ผู้ย้ายถิ่นเพียงร้อยละ 35.9 ที่มีใบอนุญาตทำงาน เกือบทุกคนทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง แม้ผู้ประกอบการบางส่วน เห็นว่า ไม่มีอุปสรรคมากนักในการขอใบอนุญาตทำงานถ้าทาตามขั้นตอน แต่บางคนมองว่าการขอใบอนุญาตทำงานมีค่าใช้จ่ายสูงและมีความซับซ้อน และยังมีความกังวลว่า ถ้าหากลูกจ้างสร้างปัญหากับชุมชน ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบ
สำหรับมุมมองของผู้ประกอบการชาวมาเลเซียต่อการจ้างแรงงานไทยนั้น เหตุผลที่ผู้ประกอบการจ้างแรงงานไทย เพราะต้องการความเชี่ยวชาญในการทำอาหารไทย ซึ่งทดแทนด้วยแรงงานจากชาติอื่นๆ ไม่ได้ อีกทั้ง งานในร้านอาหารนั้นไม่เป็นที่ต้องการของแรงงานท้องถิ่นอย่างคนมาเลย์ ผู้ประกอบการยังมองว่าแรงงานชาวมาเลย์ไม่ขยัน และไม่จริงจังในการทางาน แตกต่างจากแรงงานต่างชาติ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารยังมอง ข้อดีของการจ้างแรงงานไทย คือ ได้อาหารที่มีรสชาติเป็นอาหารไทยจริงๆ แรงงานไทยมีความตั้งใจทำงาน ทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้มากกว่า แรงงานไทยเชื่อฟัง และเป็นมิตร ส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประเภทอื่นก็มองว่า แรงงานไทยมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าแรงงานจากประเทศอื่นๆ ทำงานหนัก และไม่หยุดงานโดยไม่จำเป็น
ส่วนข้อเสียของการจ้างแรงงานไทย คือการต้องพึ่งพาแรงงานไทยที่เข้ามาในลักษณะเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำให้บริหารจัดการยาก และการออกจากงานของลูกจ้างก่อนเวลาสิ้นสุดที่กำหนดในใบอนุญาต นอกจากนี้ แรงงานไทยต้องกลับบ้านทุกเดือนเพื่อประทับตราการออก-เข้าเมือง เพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งบางคนถือโอกาสกลับไปอยู่บ้านเป็นเวลานานกว่าที่ตกลงกันไว้ ทำให้กระทบต่องาน
ที่มา The Agenda