จับตา…ราคายางหลังวัคซีนโควิด มีสิทธิ์ทะลุ 80บาท/กก.จริงหรือ
สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า(โควิด-19)ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ขณะนี้จะมียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงอยู่ก็ตาม แต่ก็พอมองเห็นแสงสว่างที่มีแนวโน้มลดลงหลังจากการนำวัคซีนมาใช้ และคนทั่วโลกกำลังจะเริ่มปรับตัวให้อยู่ร่วมโควิด-19 ได้
ยางพาราพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และโปรดักส์แชมเปี้ยนของประเทศสามารถผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ปีละมากกว่า 4.5 ล้านตัน
แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อยู่บ้างก็ตาม แต่ภาพรวมได้ส่งผลบวกทำให้ราคายางสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากตลาดมีความต้องการใช้การยางธรรมชาติ มาผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง เพิ่มมากขึ้น
แต่เมื่อมีการนำวัคซีน โควิด-19 มาใช้ในการป้องกันรักษาซึ่งจะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้ยางผลิตถุงมือยาง และเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ตลอดจนจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคายางหรือไม่ อย่างไร
“แนวโน้มราคายางในไตรมาสที่ 3-4 และในปี 2564 จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคายางแผ่นรมควันจะอยู่ในระดับ 60-70 บาทต่อกิโลกรัม และอาจจะขึ้นถึง 80 บาทต่อกิโลกรัมก็มีสิทธิเป็นไปได้หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย” นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวยืนยันอย่างมั่นใจ
ทำไมผู้ว่าการ กยท. ถึงมั่นใจเช่นนี้?
แต่…ถ้าหากนำทั้งปัจจัยลบและปัจจัยบวกมาศึกษาวิเคราะห์ อย่างละเอียด ก็จะได้คำตอบ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะมีการขยายตัวถึง 5.5% หลังจากในปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกติดลบ -3.5%
นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายเมื่อแต่ละประเทศทั่วโลกได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีน พร้อมทั้งได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลากหลายรูปแบบตามที่ประเทศนั้นๆเห็นว่าเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ประสบผลสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 จะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ
ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หลังจากปี 2563 ได้รับผบกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19 จนทำให้เศรษฐิจของไทยลดตัวติดลบไปถึง -8% ในปี 2564 เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ส่งบวกต่อเสถียรภาพราคายางคือ ความต้องการใช้ยางในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แม้จะมีวัคซีนมาใช้ยับยั้งการระบาดแล้วก็ตาม แต่ความจำเป็นในการใช้ถุงมือยางยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากเดิมประมาณ 370,000 ล้านชิ้นในปีที่ผ่านมา จะเพิ่มเป็นมากกว่า 600,000 ล้านชิ้นในปี 2564
เช่นเดียวกันกับความต้องใช้ยางในเรื่องสุขอนามัยจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสังคมในอนาคต จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุจะมีความต้องการนำยางมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ผลิตเป็นวัสดุป้องกันการลื่นผลิตเป็นวัสดุลดแรงกระแทกเช่น โถชักโครก อ่างล้างหน้า เตียง เป็นต้น
นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติค่อนข้างมาก ก็จะฟื้นตัวด้วย
ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ สถาบันยานยนต์ ได้สรุปยอดการผลิตรถยนต์ในประเทศว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1,427,27 คัน จำหน่ายในประเทศ 792,146 คัน และส่งออก 735,842 คัน ลดลงร้อยละ 29 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด -19
แต่ในช่วงปลายปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มฟื้นตัว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ในปี 2564 สถาบันยานยนต์ คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ จำนวน 1,500,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ประกอบด้วยการส่งออก 750,000 คัน และการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตามที่ IMF ได้คาดการณ์ไว้ ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
จากปัจจัยบวกดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565 ปริมาณความต้องการใช้ยางเป็นวัตถุดิบหรืออุปสงค์(Demand) ยางจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ในขณะที่ปริมาณยางธรรมชาติหรืออุปทาน(Supply) จะไม่สมดุลกับอุปสงค์ เพราะมีปริมาณน้อยลง
นายณกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาสภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเกิดภาวะอัดอั้นทางเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่เพื่อชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป แต่ปริมาณสต๊อกยางกลับลดลง
เช่น สต๊อกยางในจีนเหลือเพียงพอใช้เพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น ปกติแล้วโรงงานต่างๆจะต้องมีสต๊อกยางสำรองไว้อย่างน้อย 2 เดือน เพราะการเดินเครื่องของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นจะหยุดไม่ได้ ต้องเดินเครื่องต่อเนื่อง
ดังนั้นในช่วงปีนี้ จีนจะต้องเร่งซื้อยางเข้าเก็บในสต๊อกสำรองไว้ให้ได้อย่างน้อย 2 เดือน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการสั่งซื้อยางจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน
ปริมาณยางในสต๊อกลดลงแล้ว ปริมาณยางใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนก็ลดลงอีกด้วย เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ทำให้สวนยางได้รับความเสียหาย ประกอบกับสวนยางในภาคใต้ยังประสบปัญหาน้ำท่วมกรีดได้น้อยลง
ในขณะที่ประเทศผู้ปลูกยางใหม่อย่างเช่น เวียตนามโดนพายุถล่มหลายต่อหลายลูกสวนยางได้รับความเสียหายจำนวนมาก คาดว่า จะทำให้ปริมาณยางในตลาดโลกปี 2564 ลดลง 8-9% หรือไม่น้อยกว่า 1 ล้านตัน จากเดิม 13.5 ล้านตัน จะเหลือประมาณ 12 ล้านตันเท่านั้น
ปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปริมาณยางลดลง ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันแรงงานพม่าจะเป็นแรงงานหลักในการกรีดยาง เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในพม่า ผนวกกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่าทำให้ไม่มีแรงงานมารับจ้างกรีดยาง
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวด้วยว่า ในส่วนของประเทศไทย กยท. ยังได้ดำเนินมาตรการบริหารผลผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำยางสด โครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วยแห้งเพื่อรักษาสภาพคล่องให้เกษตรกร สามารถช่วยให้เกษตรกรชะลอการขายยางเพื่อนำไปขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้สามารถบริหารปริมาณยางออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามเมื่อยางมีเสถียรภาพและราคาสูงขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีแรงงานกรีดยางก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 80-90% เป็นเกษตรกรรายย่อยมีสวนยางตั้งแต่ 8-20 ไร่ และกรีดยางเป็นอยู่แล้ว หากลงมือกรีดยางเอง แม้จะขาดแรงงานกรีดยางก็จะไม่ได้รับผลกระทบ
ในทางตรงข้าม ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เต็ม 100% ไม่ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้ใคร ทั้งนี้ กยท.พร้อมที่จะให้การสนับทั้งเงินทุน เครื่องมือ เทคโนโลยี องค์ความรู้สมัยใหม่ ตลอดจนเรื่อง การส่งออก การทำหนังสือค้ำประกัน (LG,BG) ให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจ
“ปริมาณความต้องการใช้ยางมีมากขึ้น และในขณะที่ปริมาณยางมีน้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคายางในปี 2564 จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพอยู่ในระดับราคา 60-70 บาทต่อกิโลกรัมอย่างแน่นอน และอาจจะขึ้นแตะระดับ 80 บาทต่อกิโลกรัมก็มีโอกาสเป็นไปได้” ผู้ว่าการ กยท.ฟันธง
ขอบคุณที่มา komchadluek