ปัตตานี ชุมนุม 2 กลุ่ม จุดยืน 2 ขั้ว เวลาไล่เลี่ยกัน

วันนี้ที่ปัตตานีมีการชุมนุม 2 กลุ่ม ซึ่งเห็นได้ชัดขึ้นว่ามีจุดยืน 2 ขั้ว คนละสถานที่แต่เวลาไล่เลี่ยกัน โดยภาพรวมแล้วเหมือนประชันกัน และหากพิจารณาทั้งในมิติเวลาและสถานที่ก็น่าสนใจไม่น้อยครับ กลุ่มแรกมีการนัดหมายก่อน มีเทศบาลเมืองปัตตานี ที่นำโดยนายกฯ พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ เป็นแกนนำ จัดขึ้นในเวลาบ่ายสามถึงสี่โมงครึ่ง (#ในเวลาราชการ)

ระดมสรรพกำลังเสื้อเหลืองเพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา และที่สำคัญ #สถาบันพระมหากษัตริย์ มีเชิญทั้งประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (บาบอแม) และเจ้าคณะจังหวัดมากล่าวถ้อยแถลงด้วย จัดขึ้นที่ลานวัฒนธรรมหน้าศาลากลาง ที่ตั้งอนุสาวรีย์ ร.5 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดงานของหน่วยงานราชการอยู่บ่อยครั้ง แต่ภาพข้างล่างนี่คือเพจประชาสัมพันธ์ของ ม.อ.ปัตตานี ที่ตอนนี้ดึงออกไปแล้ว หลังจากที่ทัวร์ลงไปเมื่อวานอย่างหนัก โดยตั้งคำถามถึงบทบาทของ #มหาวิทยาลัย ในความขัดแย้งครั้งนี้ – พื้นที่มหาลัยไม่ใช่พื้นที่จัดงานก็จริง แต่พื้นที่เสมือนก็ถูกช่วงชิงอย่างหนักด้วย

อีกกลุ่มประกาศทีหลัง เป็นแฟลชม็อบสามนิ้วของเยาวชนที่เผยแพร่ในเพจ ประชาชนปลดแอกตานี- Free people Tani จัดขึ้นเวลาบ่ายสี่โมง (คือหลังเลิกเรียนตามประกาศล่าสุด) เวลาเหลื่อม ๆ กันกับกลุ่มแรก แต่สถานที่เป็นหน้าโรงแรมซีเอสปัตตานี (หากยังไม่แกงกันก่อน) ที่น่าสนใจคือโรงแรมแห่งนี้มีเจ้าของคือ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล หนึ่งใน 250 ส.ว. แต่งตั้งนั่นเอง ในเชิงสัญลักษณ์แล้วถือว่ารุกเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่เคยมีการชุมนุมในลักษณะนี้มาก่อน พวกเขาไม่ได้เลือกสถานที่ใน #มหาวิทยาลัย เหมือนแฟลชม็อบของนักศึกษาก่อนหน้านี้ หากไม่นับ #วิ่งไล่ลุง เมื่อต้นปี และการชุมนุมที่ #มัสยิดกรือเซะ ในช่วงวันรายอ นี่ถือเป็นการชุมนุมนอกมหาวิทยาลัยครั้งแรกครับ

แม้พื้นที่แห่งนี้จะมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกมาตลอด 16 ปี (อันหลังนี่ที่อื่นไม่มีแบบต่อเนื่องอย่างเรานะครับ) แต่กิจกรรมทางการเมืองแบบนี้ก็ดำเนินได้อยู่ กิจกรรมแรกนั้นหากไม่ได้อยู่ในห้วงเวลานี้ก็ดูเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานรัฐมักจะระดมคนมาทำกันอยู่แล้ว แต่การปั่นในช่วงเวลานี้มีนัยทางการเมืองสูงมาก ยิ่งทำให้ประเด็น #สถาบันกษัตริย์กับการเมือง นูนเด่นเห็นชัดมากขึ้น คนใน ม.อ.อาจนึกแปลกใจว่าเหตุใดการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเหล่านี้จะมีทัวร์มาลงยับเยินขนาดนั้น สิ่งนี้สะท้อนว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปครับ

ถึงอย่างนั้น การประชันที่ว่านี้จะสร้างสรรค์และไม่บานปลายก็ขึ้นอยู่กับการจัดการกับเวลาและสถานที่ หากเว้นระยะเอาไว้ให้พอเหมาะ เรา ๆ ก็น่าจะเบาใจได้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์เหมือนที่รามคำแหงเมื่อวานนี้ครับ

ส่วนจะชูสามนิ้วและอภิปรายอะไรกัน จะร้องเพลงสรรเสริญภาษาไทยหรือภาษามลายู ก็ค่อยมาดูกันครับ

เครดิต Romadon Panjor

อ่านต่อ

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *